สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ได้จัดบริการวิชาการเพื่อสนองต่อความต้องการของสังคมในเรื่องต่างๆ ดังนี้

“สมุนไพรที่ใช้บำบัดภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย”

สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดย รองศาสตราจารย์ ดร.มุกดา หนุ่ยศรี ได้จัดโครงการการนำข้อค้นพบจากงานวิจัย เรื่อง “สมุนไพรที่ใช้บำบัดภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย” เผยแพร่ให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการดูแลประชาชนในภาวะฉุกเฉินต่อไป เมื่อวันศุกร์ที่  1 มีนาคม 2562 ณ เทศบาลตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี

          โดยข้อค้นพบจากงานวิจัย พบว่า สมุนไพรที่ใช้บำบัดภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพ จำแนกตามภาวะฉุกเฉิน ได้แก่ 1) ห้ามเลือดจากบาดแผลนิยมใช้ คือ ใบสาบเสือ ((Eupatorium odoratum L.) 2) แผลสดบำบัดโดยใช้ใบบัวบก (Centella asiatica Urban) 3) แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกใช้น้ำมันสัตว์ (Animal oil) 4) พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยบำบัดโดยใช้โลดทะนงแดง [Trigonostemon reidioides (Kurz) Craib] กับน้ำมะนาว 5) พิษงูบำบัดโดยใช้โลดทะนงแดงกับหมาก (Areca catechu L.) และน้ำมะนาว 6) ท้องร่วงรุนแรงบำบัดโดยใช้ยอดฝรั่ง ใบฝรั่ง และลูกฝรั่งดิบ (Psidium guajava L.) 7) อาหารเป็นพิษและ 8) พิษจากสารเคมีบำบัดโดยใช้ใบและเถารางจืดดอกม่วง (Thunbergia laurifolia Lindl.) รองลงมาเป็นย่านางแดง (Bauhinia strychnifolia Craib.) 9) ลมพิษบำบัดโดยใช้ใบตำลึงแก่ [Coccinia grandis (L.)] กับเหล้าขาว 10) อาการอาเจียนเป็นเลือดที่ไม่ทราบสาเหตุบำบัดโดยใช้ว่านกาบหอย [Rheo discolor (L’Herit.) Hance] อาการอาเจียนเป็นเลือดจากแผลในกระเพาะอาหารบำบัดโดยใช้ขมิ้นชันสด (Curcuma longa Linn.) และอาการอาเจียนเป็นเลือดจากภาวะช้ำในบำบัดโดยใช้หนุมานประสานกาย (Schefflera leucantha Viguier) และ 11) เลือดกำเดาออกจมูกบำบัดโดยใช้ใบสาบเสือ

“เด็กไทยไร้พุง มุ่งสู่สุขภาพดี”

สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดย อาจารย์ พ.ต.หญิง ดร.นภาเพ็ญ จันทขัมมา ได้จัดโครงการบริการวิชาการส่งเสริมสุขภาพ เรื่อง “เด็กไทยไร้พุง มุ่งสู่สุขภาพดี” เมื่อวันที่ 30-31 พฤษภาคม และ 1 กรกฏาคม 2562 ณ โรงเรียนวัดผาสุกมณีจักร โดยได้ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพเด็กวัยเรียนกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มที่มีภาวะโภชนาการเกินหรือเป็นโรคอ้วน ซึ่งโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ หนึ่งมหาวิทยาลัย หนึ่งจังหวัด (มสธ.ร่วมพัฒนานนทบุรี) ของมหาวิทยาลัย โดยจัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านการบริโภคอาหารและการออกกำลังกายที่ถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งการปรับพฤติกรรมในเด็กเพื่อลดภาวะแทรกซ้อน และผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการสร้างความตระหนักให้เกิดกับผู้ที่เก่ียวข้องทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการเกินและโรคอ้วนในเด็กวัยเรียนให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

“การจัดการการดูแลโรคเรื้อรังอย่างต่อเนื่องและไร้รอยต่อในบริบทความหลากหลายวัฒนธรรม”

สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุทธีพร มูลศาสตร์ ได้จัดโครงการการประชุมวิชาการ เรื่อง “การจัดการการดูแลโรคเรื้อรังอย่างต่อเนื่องและไร้รอยต่อในบริบทความหลากหลายวัฒนธรรม” เมื่อวันที่ 25-26 กรกฎาคม 2562 ณ ห้องประชุมสามศร อาคารอเนกนิทัศน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยได้เล็งเห็นว่าโรคเรื้อรัง (Chronic diseases) เป็นปัญหาสำคัญที่คุกคามสุขภาพและระบบการดูแลสุขภาพไปทั่วโลก สถานการณ์การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่สำคัญของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทย พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพบโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต และสมองเสื่อม ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ต้องการการดูแลที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องและไร้รอยต่อ ซึ่งการจัดการการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ผ่านมานั้น ยังมีลักษณะการจัดการแบบแยกส่วนและมีลักษณะของรูปแบบที่เหมือนกันตามนโยบายของหน่วยงานตามสังกัด ยังไม่มีลักษณะการจัดการโรคเรื้อรังในชุมชนใดที่สะท้อนให้เห็นถึงความต่อเนื่องแบบไร้รอยต่ออย่างเหมาะสมกับบริบทของความหลากหลายวัฒนธรรม ซึ่งวัตถุประสงค์ของการประชุมวิชาการในครั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาความรู้และทักษะในการจัดการการดูแลโรคเรื้อรังอย่างต่อเนื่องและไร้รอยต่อในบริบทความหลากหลายวัฒนธรรม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และผลงานที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์จากการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (best practices) ในกลุ่มพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในชุมชน และพัฒนาเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังระหว่างหน่วยงานสถาบันการศึกษาและการบริการสุขภาพต่อไป